Skip links

รู้จักล่ามงานประชุม

ล่ามการประชุม มีประเภทอะไรบ้าง

                เมื่อเราพูดถึงการประชุม สัมมนาในระดับนานาชาติ การประชุมสุดยอดผู้นำ หรือแม้แต่การประชุม การอบรมในระดับองค์กรที่มีผู้เข้าร่วมจากนานาชาติ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสื่อสาร เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ในการถ่ายทอดความเห็น ความรู้ ประสบการณ์ และสนับสนุนการมีส่วนร่วม 

                 งานประชุม อบรม สัมมนาที่คำนึงถึงการใช้ล่าม มักจะประสบความสำเร็จในการทำให้ทุกคนเข้าใจถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากกว่างานสัมมนาที่ไม่มีล่ามเลย

                 คำถามต่อไปก็คือ ผู้จัดจะเลือกใช้ล่ามประเภทไหนดีน้า?…?

                  โดยปกติแล้ว การล่ามจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกันคือ

1. ล่ามฉับพลัน

                  ล่ามฉับพลัน (Simultaneous interpretation) โดยในวงการเรามักจะมีชื่อเรียกล่ามประเภทนี้ที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ล่ามตู้ ล่ามแปลสด ล่ามเรียลไทม์ หรือ ล่ามพูดพร้อม ทั้งหมด ล้วนแต่เป็นล่ามประเภทเดียวกัน  

                  การทำล่ามลักษณะนี้ ผู้ที่เป็นล่ามจะต้องฟัง คิด และแปลออกมาพร้อม ๆ กับที่ผู้พูดกำลังพูด ดังนั้นล่ามประเภทนี้จะต้องมีทักษะการฟังที่ดี ประมวลผลได้รวดเร็ว และแปลออกมาได้อย่างถูกต้องและเข้าใจง่าย การทำล่ามฉับพลันที่ผู้ฟังจะได้ยินการแปลพร้อมกับที่ผู้พูดกำลังพูดจะต้องมีอุปกรณ์เสริมเพื่อความสะดวกในการล่าม และการฟัง เช่น ตู้ล่าม ระบบควบคุมล่าม ตัวส่งสัญญาณ หูฟังแปลภาษา เป็นต้น

2. ล่ามพูดตาม

                    ล่ามพูดตาม ( Consecutive interpretation) หรือล่ามแปลตาม คือการล่ามหลังจากที่ผู้พูดพูดจบ จากนั้นล่ามจึงค่อยแปลสิ่งที่ผู้พูดพูด โดยล่ามจะต้องจำ หรือจดบันทึกสิ่งที่ผู้พูดได้พูด และผู้พูดจะหยุดให้ล่ามได้แปลเป็นช่วง ๆ ทักษะที่สำคัญสำหรับการทำล่ามประเภทนี้คือ ทักษะการฟัง การจดจำ การจดบันทึก การคิดประมวลผล และการแปล การทำล่ามประเภทนี้ล่ามจะมีเวลาฟังและคิดและประมวลผลมากกว่าการทำล่ามแบบฉับพลัน ซึ่งการล่ามประเภทนี้จะเหมาะกับการประชุมที่มีเนื้อหาไม่แน่นมาก มีวาระชัดเจน และมีการสำรองเวลาไว้สำหรับการแปล