หลักการตรวจงานแปลมีอะไรบ้าง
หลังจากทำการแปลเสร็จแล้ว ควรมีการตรวจสอบงานแปลว่ามีจุดผิดพลาดหรือต้องแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ เพื่อเป็นการทำให้งานแปลมีคุณภาพและไร้ข้อผิดพลาด การตรวจงานแปลคือกระบวนการสำคัญที่จำเป็น บทความนี้จะขอนำเสนอหลักการตรวจงานแปล โดยมีดังนี้
อ่านทบทวนและปรับปรุงแก้ไข:
เมื่อมีการแปลเสร็จแล้ว ให้อ่านทบทวนในสิ่งที่แปล หากจุดไหนมีความไม่สมเหตุสมผลหรืออ่านไม่เข้าใจ เช่น อ่านแล้วข้อมูลไม่ตรงกัน รูปประโยคดูมีความกำกวม หรือขาดใจความสำคัญ เป็นต้น ให้ทำการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งโดยให้เทียบกับภาษาต้นฉบับ หลังจากนั้นให้อ่านเฉพาะภาษาไทยเพื่อดูว่ามีส่วนไหนยังติดร่องรอยจากภาษาต้นทางหรือไม่ หากมีให้ปรับปรุงแก้ไขคำแปลให้มีความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
ตรวจสอบคำสะกด:
ควรมีการตรวจสอบคำสะกดทุกครั้งหลังทำการแปลเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดต่องานแปล ในกรณีที่มีคำจำนวนเยอะ อาจใช้เครื่องมือตรวจคำสะกดหรือนักพิสูจน์อักษรเข้ามาช่วยเพิ่มเติมได้
ตัดคำฟุ่มเฟือย:
คำไหนที่ตัดแล้วความหมายยังคงเหมือนเดิมให้ตัด เช่น เพียงแค่องค์กรเดียวเท่านั้น > เพียงองค์กรเดียว เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เวลาอ่านมีความกระชับมากขึ้น อีกทั้งยังไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้อ่านอีกด้วย
ยึดคลังศัพท์เป็นหลัก:
ตรวจสอบคำศัพท์เฉพาะทางหรือคำศัพท์ที่มีอยู่ในคลังศัพท์ คำศัพท์ไหนที่มีการกำหนดคำแปลไว้ให้ยึดคำแปลนั้นเป็นหลัก แต่ในบางกรณีที่มีกำหนดคำแปลไว้ 2 ความหมาย ให้ติดต่อกับผู้กำหนดคำแปลเพื่อปรึกษาหารือกันว่าจะเลือกใช้คำไหนดี
บทสรุป:
โดยสรุปแล้ว การตรวจงานแปลควรคำนึงถึงความสมเหตุสมผล ความเข้าใจ และความสามารถในการอ่าน หลักการแปลที่กล่าวมาเบื้องต้นอาจมีมากกว่าที่เขียนไว้และที่สำคัญควรมีความยืดหยุ่นในการตรวจงาน ไม่เคร่งครัดและไม่ปล่อยผ่านจนเกินไป ทั้งนี้ควรดูบริบทเป็นหลักเพื่อประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงแก้ไขอีกด้วย